วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

วิธีการแก้ปัญหาการปลูกมะนาวบนดินถมใหม่

หลายคนในที่นี้อาจจะมีปัญหาเรื่องพื้นที่ในการปลูกมะนาว ซึ่งอาจจะมีประวัติน้ำท่วมและไม่คุ้มที่จะลงทุนปลูกเพราะหากเคยมีประวัติน้ำท่วมแล้ว ประวัตินั้นอาจจะซ้ำรอยเอาในช่วงที่มะนาวเราให้ผลผลิตพอดีดังนั้นจึงไม่คุ้มที่จะเสี่ยง ทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้นี้ก็คือ การถมที่ให้สูงขึ้นหนีปัญหา แต่อาจจะไม่รู้ว่าจะเกิดปัญหาใหม่เข้ามา นั่นก็คือดินที่นำมาถมนั้นอาจจะเป็นดินดานหรือดินชั้นล่าง ซึ่งดินนั้นจะมีธาตุอาหารน้อยและดินแน่น น้ำระบายแทบไม่ได้ สำหรับผู้ที่มีทุนสูงก็อาจจะไม่มีปัญหา ซึ่งอาจจะหลีกเลี่ยงไปใช้บริการการปลูกในวงบ่อซีเมนต์ แต่สำหรับท่านที่มีความตั้งใจที่จะปลูกลงดินต่อไป ทางสวนเรามีข้อเสนอแนะดังนี้

1. เตรียมหลุม โดยการขุดให้มีความกว้างและยาว 50 เซนติเมตร ส่วนลึกอย่างน้อง 40 เซนติเมตร ซึ่งตรงนี้อาจจะขุดยากบ้างอาจจะใช้น้ำใส่ขณะขุด หรืออาจจะใช้เครื่องมือกลในการขุดเจาะ หลังจากขุดเสร็จแล้วเอาน้ำเทใส่ดูจะพบว่าน้ำนั้นไม่สามารถระบายได้เรียกว่าน้ำท่วมขัง การแก้ปัญหาน้ำท่วมขังนั้นให้นำเอาเหล็กเส้นขนาดเท่าๆปลายนิ้วก้อยมาตอกตรงกลางหลุมให้ลึกลงไปถึงดินเดิม แล้วจึงดึงเหล็กนั้นขึ้นมา ซึ่งอาจจะตอกได้มากกว่า 1 รู วิธีนี้จะทำให้น้ำมีช่องทางระบายออกไปได้

2. เตรียมดิน ใช้สูตรผสมดินตามแบบฉบับของสวนมะนาว โดยใช้แกลบเก่า 4 ส่วน ดิน 2 ส่วน ปุ๋ยหมักสูตรขี้วัวและแกลบ ย่อยด้วย พด.1 จำนวน 1 ส่วน และหากมีใบฉำฉาหรือจามจุรี นำมาผสมด้วย หากไม่มีก็ไม่ต้อง นำส่วนผสมทั้งหมดมาคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นนำมาใส่ในหลุมที่ขุดเตรียมไว้ ให้พูนเป็นหลังเต่า

3.เตรียมระบบน้ำ ใช้ท่อ pe ขนาด 25 มิลลิเมตร เป็นท่อหลัก โดยจะขอข้ามวิธีการเดินระบบน้ำไป หลังจากนั้นให้ทำการวอร์มระบบน้ำตามแต่ละจุดให้เปียกชื้นเป็นเวลา 5 วันโดยเลือกช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในแต่ละวัน วันละ 1 ครั้งเป็นเวลาประมาณ 15 นาที เมื่อครบ 5วันแล้วให้ใช้ปุ๋ยที่ราดทางดินเพื่อบำรุงดิน ที่มี แบคทีเรีย แอกติโนมัยซีต ผสมน้ำราดรดลงไปแล้วปล่อยทิ้งไว้อีก 5 วัน จึงทำการปลูกมะนาวได้ตามปกติ

สูตรนี้สวนมะนาวของเราได้ทำการทดลองไปแล้วจำนวน 2 แปลงปรากฏว่าได้ผลดีต้นมะนาวแข็งแรงสมบูรณ์ และมีอัตราการเจริญเติบโตที่ปกติ บางต้นที่ปล่อยให้ติดผลพบว่ามะนาวมีผลโตดีมาก และค่า PH ของดินที่ตรวจพบว่า มีค่า 4.5 ซึ่งเหมาะสมกับต้นมะนาวที่สุด สำหรับสูตรนี้แนะนำให้ปลูกจากกิ่งตอนเท่านั้นเพราะรากของมะนาวที่ใช้กิ่งตอนปลูกนั้นรากจะไปแผ่ขยายไปเกิน 1 ฟุต ทำให้มะนาวได้รับธาตุอาหารอย่างเต็มที่ จากประสบการณ์ ที่เราได้ทดลองทำมาแล้วได้ผลจึงนำมาบอกต่อครับ

วิธีการเพาะเชื้อป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าด้วย พด.3 แน่นอนกว่า..

ปัญหาสำหรับมือใหม่ในการเริ่มปลูกมะนาวมักจะพบปัญหารากเน่าซึ่งสังเกตและดูจากสภาพต้น โดยหากพบว่า มะนาว ของเราเริ่มเหี่ยวจากยอดลงมา สามารถวิเคราะห์ได้เลยว่ามะนาวต้นนั้นๆเป็นโรครากเน่าแล้ว และทำให้มะนาวตายในที่สุด โรกรากเน่านั้นมีสาเหตุมาจากส่วนผสมวัสดุประกอบของดินที่ยังไม่ย่อยสลาย หรือเกิดจากการให้น้ำมากเกินไปในมะนาวปลูกใหม่ และอีกสาเหตุคือน้ำท่วมขังเป็นเวลานานเกินไป สำหรับการเพาะเชื้อนั้นให้ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 สามารถเข้าไปขอที่กรมพัฒนาที่ดินทั่วประเทศให้ดูดีๆเรื่องวันหมดอายุด้วยก่อนรับจากเจ้าหน้าที่

สำหรับสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 นั้นจะมีคุณสมบัติในการควบคุมเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในดินบางชนิดที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดรากเน่าโคนเน่า โดยกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีในสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 คือ เชื้อราไตรโคเดอร์มา และแบคทีเรียบาซิลลัส โดยเชื้อเหล่านี้จะเข้าทำลายและสกัดเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคพืช โดยเชื้อราไตรโคเดอร์มาจะมีความสามารถในการเจริญเติบโตได้ดีกว่าเชื้อที่เป็นสาเหตุรากเน่าโคนเน่าและสามารถใช้อาหารของเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคได้ดีกว่าจึงยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรากเน่าโคนเน่าได้ และกลุ่มแบคทีเรียบาซิลลัส จะสร้างสารพิษทำลายยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรครากเน่าโคนเน่าทำให้ไม่สามารถแพร่กระจายได้อีกต่อไป

ขั้นตอนการเพาะเชื้อให้ใช้ปุ๋ยหมักสูตรของสวนมะนาว ( จำนวน 150 กิโลกรัมโดยประมาณต่อสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 จำนวน 1 ซอง (สำหรับสถานที่ปฏิบัติงานให้ทำในที่ร่ม) โดยการใช้น้ำสะอาดจำนวน 20 ลิตร (หากมีแอปซ่า 80 ให้ใส่ลงไปในน้ำก่อนจำนวน 3 ซีซี) จากนั้นให้นำสารเร่งซุปเปอร์ พด.3 จำนวน 1 ซองเทลงไปในน้ำ คนให้เข้ากัน แล้วทำการรดลงบนกองปุ๋ยที่เตรียมไว้ให้ทั่วโดยกองปุ๋ยนี้ควรมีความสูงไม่เกิน 50 เซนติเมตรจากนั้นทิ้งไว้ 5-7 วัน จะพบว่ามีกลุ่มเส้นใยสีขาวและสปอร์สีเขียว เกิดขึ้นในกองปุ๋ยหมัก โดยก่อนนำไปใช้ต้องคลุกเค้ากองปุ๋ยอีกครั้ง โดยนำไปให้เป็นส่วนผสมของวัสดุปลูกสำหรับมะนาวปลูกใหม่หรือใส่เพิ่มเติมสำหรับมะนาวในวงบ่อซีเมนต์จะทำให้ช่วยลดปริมาณการเกิดโรครากเน่าโคนเน่าในมะนาวได้ดีมากอีกวิธีหนึ่ง